Hot Topic!

ตลท.รื้อเครื่องหมายเตือนนลท. หาก 'ส่วนผู้ถือหุ้น' ต่ำกว่า 25 เปอร์เซ็น เข้าแผนฟื้นฟูฯ

โดย ACT โพสเมื่อ Oct 17,2017

 - - สำนักข่าวข่าวหุ้น - -


ตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดรับฟังความคิดเห็น กรณีเตรียมขึ้นเครื่องหมายหุ้นที่มีส่วนผู้ถือหุ้นน้อยกว่า 25% ของทุนชำระแล้ว บริษัทที่ยื่น หรือถูกเจ้าหนี้หรือหน่วยงานทางการสั่งฟื้นฟูกิจการ รวมถึงเกณฑ์ Backdoor Listing ฯลฯ

         

นายสันติ กีระนันทน์รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ ตลท. เปิดเผยว่า จากกรณีตลาดหลักทรัพย์ฯ เปิดรับฟังความคิดเห็นเรื่องมาตรการเตือนผู้ลงทุนนั้น จึงเห็นว่าควรเพิ่มมาตรการระดับกลางเพื่อเตือนนักลงทุนโดยการจัดกลุ่มบริษัทที่อาจมีความเสี่ยงทั้งในด้านฐานะการเงินถดถอย มีปัญหาเรื่องงบการเงิน หรือการประกอบธุรกิจไม่เหมาะสม ซึ่งอาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนในอนาคต โดยเห็นว่าการเตือนผู้ลงทุนก่อนที่จะทำการซื้อขาย จะเป็นมาตรการที่ช่วยเสริมให้ผู้ลงทุนเข้าใจถึงสถานการณ์ของบริษัทดียิ่งขึ้น ก่อนตัดสินใจลงทุน

         

ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการขึ้นเครื่องหมายบนหลักทรัพย์ที่มีส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity) น้อยกว่า 25% ของทุนชำระแล้วของบริษัท (Paid-up Capital) ไม่รวมส่วนต่ำมูลค่าหุ้น บริษัทที่ยื่นหรือถูกเจ้าหนี้หรือหน่วยงานทางการสั่งฟื้นฟูกิจการ และศาลรับคำร้องนั้น หรือบริษัทถูกเจ้าหนี้ฟ้องล้มละลาย และศาลรับคำร้อง

         

ซึ่งรายงานการสอบบัญชีมีลักษณะไม่แสดงความเห็นงบการเงินเนื่องจากถูกจำกัดขอบเขตโดยบริษัทจดทะเบียน ผู้บริหารของบริษัทจดทะเบียน หรือแสดงความเห็นว่างบการเงินไม่ถูกต้อง มีเงื่อนไขที่เป็นสาระสำคัญว่าไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (งบการเงินรายไตรมาส/งบการเงินประจำปี) ก.ล.ต.สั่งแก้ไขงบหรือสั่ง SpecialAudit และลักษณะธุรกิจ เป็น Cash Co. แต่ยังไม่เข้าข่ายถูกเพิกถอน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะมีการรวบรวมรายชื่อบริษัทที่ถูกขึ้นเครื่องหมายเตือนเพื่อให้นักลงทุนเห็นข้อมูลชัดเจน

         

อย่างไรก็ตาม นักลงทุนยังคงซื้อขายหลักทรัพย์นั้นได้ โดยให้ซื้อขายด้วยบัญชีเงินสดแบบ Cash Balance เท่านั้น คือ ผู้ลงทุนต้องวางเงินเต็มจำนวนก่อนการซื้อหลักทรัพย์ โดยหากบริษัทมีการแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ จะมีการปลดเครื่องหมาย แต่หากไม่สามารถแก้ไขเหตุ และมีฐานะการเงินถดถอยหรือเข้าเงื่อนไขที่อาจถูกเพิกถอนหลักทรัพย์ของบริษัทจะถูกประกาศเข้าข่ายอาจถูกเพิกถอน และพ้นจากการเป็นบริษัทในกลุ่มนี้ แต่จะถูกย้ายไปอยู่ในกลุ่มบริษัทที่เข้าข่ายอาจถูกเพิกถอนและถูกห้ามซื้อขายแทน

         

นอกจากนี้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ จะปรับปรุงเกณฑ์ Backdoor Listing เนื่องจาก พบว่ามีบางรายการที่ขนาดรายการอาจยังไม่เข้าเกณฑ์พิจารณา Backdoor Listing แต่โดยเนื้อหาสาระที่แท้จริง (Substance) อาจพิจารณาได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงธุรกิจหรืออำนาจควบคุม ซึ่งเห็นว่าควรคงนิยามและขนาดรายการที่ 100% ไว้เช่นเดิม

         

แต่เสนอให้เพิ่มเติมเกณฑ์ให้ ตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถพิจารณาถึงเนื้อหาสาระที่แท้จริงของรายการ Backdoor Listing ในลักษณะเดียวกับเกณฑ์การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) ของสำนักงาน ก.ล.ต. โดยเพิ่มถ้อยคำในเกณฑ์ Backdoor Listing ว่า หากมีเหตุอันควรสงสัยว่ารูปแบบของรายการเป็นไปตามเกณฑ์แต่อาจพิจารณาได้ว่าเนื้อหาสาระที่แท้จริง (Substance) เข้าลักษณะเป็นการเลี่ยงเกณฑ์ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจพิจารณาว่ารายการดังกล่าวเป็น Backdoor Listing

         

อย่างไรก็ตาม เพื่อให้กระบวนการพิจารณามีความโปร่งใส ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจจัดตั้ง คณะอนุกรรมการสำหรับให้ความเห็นต่อรายการที่เกิดขึ้น ซึ่งประกอบไปด้วยผู้เชี่ยวชาญในตลาดทุนหรือธุรกิจที่มีความเป็นอิสระและผู้บริหาร ตลท. ทำหน้าที่ให้ความเห็นต่อกรณีที่เห็นว่าอาจเข้าข่ายเป็น Backdoor Listing แต่มีลักษณะที่หลีกเลี่ยงเกณฑ์ เมื่อพิจารณาจาก Substance ของรายการ ก่อนนำเสนอคณะกรรมการของตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อพิจารณาต่อไป โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ จะเปิดรับฟังความคิดเห็น 2 เรื่องดังกล่าว จนถึงวันที่ 6 พ.ย.นี้

 

 

 

 

 

#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน


Follow LINE: http://bit.ly/2vDtGHV
Follow Facebook: http://bit.ly/2x3oArO

 

 

 

 

WebSite : http://www.anticorruption.in.th